ไขข้อข้องใจระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้คืออะไร

ทำความสะอาดกระดิ่ง Ball

ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้นั้นมีหน้าทีแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้น และจะมีระบบสปริงเกลอร์หรือระบบอื่นๆทำหน้าที่ในการดับเพลิง หรืออาจจะมีการทำงานร่วมกันก็ได้ ซึ่งในการออกแบบในระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้จะต้องให้รู้พื้นที่หรือจุดเกิดเหตุได้เร็ว และมีสัญญาณแจ้งเหตุเพื่อแจ้งเตือนบุคคลในพื้นที่นั้นๆ ให้อพยพที่โดยรวดเร็วและปลอดภัย ดังนั้นการออกแบบติดตั้งจึงต้องให้มีความเหมาะสมกับลักษณะอาคารในแต่ละประเภท โดยทั่วไประบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ มีการออกแบบติดตั้งยู่ด้วยกัน 2 ระบบ คือ

1. ระบบการแจ้งเหตุเป็นโซน (Conventional System)
2. ระบบการแจ้งเหตุเป็นจุด (Addressable System)

1.ระบบการแจ้งเหตุเป็นโซน (Conventional System) ระบบนี้เป็นการแบ่งพื้นที่การควบคุมของอาคารออกเป็นส่วนๆหรือโซน ซึ่งในการแบ่งพื้นที่โซนจะมีหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานกำหนด เพื่อให้มีระยะค้นหาในจุดที่เกิดเหตุได้ ในการออกแบบการแจ้งเหตุในแบบนี้ จะทำให้เรารู้ถึงพื้นที่การเกิดเหตุแบบเป็นโซนกว้างๆ จะไม่ทราบจุดเกิดเหตุโดยตรง อาจจะต้องตรวจสอบจุดเกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง ระบบนี้มักติดตั้งในอาคารที่มีขนาดเล็ก

2.ระบบการแจ้งเหตุแบบระบุตำแหน่ง (Addressable System)

ระบบนี้ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ระบบสามารถบอกพื้นที่หรือตำแหน่งการเกิดเหตุได้โดย ตรง ทำให้สามารถเข้าระงับเหตุและอพยบคนออกจากพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว อุปกรณ์ตรวจจับในระบบนี้ก็ต้องใช้อุปกรณ์ที่สามารถระบุตำแหน่งได้ (Addressable Device) ระบบนี้มักติดตั้งในอาคารที่มีขนาดใหญ่

องค์ประกอบของระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm System)

1.ตู้ควบคุม ( Control Panel )
1.1 ชุดจ่ายไฟ ( Power Supply Unit )
1.2 ชุดสำรองไฟ ( Battery Unit )
2.  อุปกรณ์เริ่มสัญญาณ ( Initiating Devices )
3. อุปกรณ์แจ้งสัญญาณ ( Notification Appliance Devices,NAC )
4. อุปกรณ์แยกแจ้งสัญญาณ ( Graphic Annunciator )
5. อุปกรณ์เสริม( Auxiliary Devices )

1. ตู้ควบคุม (Fire Alarm Control Panel)

ตู้ควบคุมสัญญาณระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm Control Panel) เป็นชุดควบคุมการทำงานของระบบหรือเป็นหน่วยปฏิบัติการ สามารถแสดงผลการตอบสนองของอุปกรณ์ตรวจจับ และส่งสัญญาณแจ้งเหตุไปตามตำแหน่งต่างๆที่ออกแบบเอาไว้ โดยทั่วไปบนตู้ควบคุมควรจะต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ
*cpu
*ชุดอุปกรณ์เริ่มสัญญาณ ( Initiating Devices )
– ชุดอุปกรณ์แจ้งสัญญาณ (Notification Appliance Devices,NAC)

– Key pad
– ไฟ( LED ) บอกสถานะต่างๆ เช่น
– ไฟแสดงแหล่งจ่ายไฟ ( Power Supply )
– ไฟแสดงสถานะการตรวจจับของอุปกรณ์ (Alarm)
– ไฟแสดงสถานะขัดข้องของอุปกรณ์ตรวจจับและระบบ (Trouble) เป็นต้น
– ฯลฯ
– ปุ่มการควบคุมการทำงานต่างๆเบื้องต้น เช่น
– ปุ่มรับทราบเหตุการณ์ ( Acknowledge )
– ปุ่มหยุดเสียงการแจ้งเหตุ ( Silence )
– ปุ่มเคลียร์เหตุการณ์ต่างๆ ( Reset )
– ฯลฯ

1.1 ชุดจ่ายไฟ (Power Supply Unit)
จะเป็นชุดจ่ายไฟให้กับระบบทั้งหมดต้องทำการคำนวณเพื่อให้ได้ขนาดที่สามารถจ่ายกระแสไฟให้เพียงพอกับระบบในขณะที่ต้องแจ้งเหตุพร้อมกันทั้งอาคาร และมีระบบชาร์จไฟอัตโนมัติ (Charger)

1.2 ชุดสำรองไฟ (Battery Unit)
เป็นชุดสำรองไฟที่ใช้ในระบบ ในกรณีที่กระแสไฟหลัก (Main Power Supply ) ไม่มีจ่ายให้กับระบบ ชุดไฟสำรองก็จะทำหน้าที่แทน ส่วนระยะเวลาในการใช้งาน ( Ahr. ) ขึ้นอยู่กับการคำนวณมาจากการใช้จำนวนอุปกรณ์ตรวจจับและอุปกรณ์แจ้งเหตุภายในวงจรนั้น ตามมาตรฐานแล้ว พิกัดการใช้งานของแบตเตอรี่ เมื่อไม่มีแหล่งจ่ายไฟจะต้องสามารถจ่ายไฟให้ระบบในสถาวะปกติได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และในสถาวะแจ้งเหตุได้ไม่น้อยกว่า 15 นาที

2. อุปกรณ์เริ่มสัญญาณ ( Initiating Devices )
อุปกรณ์เริ่มสัญญาณ เป็นอุปกรณ์ตรวจจับการเกิดเหตุเพลิงไหม้ (Detector) ภายในวงจรการควบคุมนั้นๆ สามารถตรวจจับได้ทั้งความร้อน ควันและเปลวไฟ เป็นต้น ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ อุปกรณ์ตรวจจับจะทำหน้าตรวจจับเหตุเพลิงไหม้และจะส่งสัญญาณไปให้ตู้ควบคุม เพื่อประมวลผลต่อไป

ในอุปกรณ์เริ่มสัญญาณสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ

1. อุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบบมือดึงจากบุคคล (Manual Pull Station)
2. อุปกรณ์เริ่มสัญญาณโดยอัตโนมัติ (Detectors)

ซึ่งจะมีรายละเอียด ดังนี้
1.1 อุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบบมือดึงจากบุคคล (Manual Pull Station)

อุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบบมือดึงจากบุคคล (Manual Pull Station) เป็นอุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบบใช้มือดึง หรือกด หรือทุบกระจก (Break Glass) จากบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ ส่วนใหญ่จะติดตั้งไว้ในจุดต่างๆที่ที่คนเห็นได้ง่าย

1.2 อุปกรณ์เริ่มสัญญาณโดยอัตโนมัติ (Detectors)
เป็นอุปกรณ์เริ่มสัญญาณ ที่สามารถตรวจจับการเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดยอัตโนมัติซึ่งมีหลายชนิดตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ของการใช้งาน สามารถแยกตามชนิดต่างๆดังนี้
2.2.1 อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector) 
เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ตรวจจับความร้อนจากการเกิดเหตุเพลิงไหม้ ในการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ชนิดนี้ ต้องเลือกอุณหภูมิของอุปกรณ์ให้เหมาะสม โดยให้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในห้องหรือพื้นที่ที่ติดตั้งด้วย แต่อุปกรณ์ชนิดนี้ไม่เหมาะที่จะติดตั้งในห้องพักหลับนอน สามารถแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ
– อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน ชนิดกำหนดอุณหภูมิ (Fixed Temperature) อุปกรณ์ชนิดนี้จะทำงานเมื่อมีอุณหภูมิถึงจุดที่กำหนดอุณหภูมิเดียว โดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิกำหนดอยู่ที่ 135’ F หรือ 200’ F (หรือมากกว่านั้น) พื้นที่ที่ควรติดตั้งอุปกรณ์ชนิดนี้ เช่น ในห้องครัว หรือห้องเครื่อง ห้องหม้อไอน้ำ (Boiler Room) เป็นต้น
– อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน ชนิดคอมบิเนชั่น ( Combination)
หมายความว่า ภายในอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนชนิดนี้จะมีการตรวจจับอยู่ 2 แบบอยู่ในตัวเดียวกัน คือ ทำงานเมื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเกินที่กำหนด ( Rate of Rise Temperature) และ ตรวจจับที่อุณหภูมิกำหนด (Fixed Temperature) เมื่อรวมกันจึงเป็นชนิดคอมบิเนชั่นหรือ ( Rate of Rise & Fixed Temperature ) โดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 135’ F หรือ 200’ F เช่นกัน การทำงานของอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนชนิด ตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเกินที่กำหนด ( Rate of Rise Temperature ) นั้นหมายความว่า อุปกรณ์จะทำงานที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นไปในอัตรา 15 ‘ F( 8’ C ) ต่อนาที อุปกรณ์ก็จะทำงาน

2.2.2 อุปกรณ์ตรวจจับควัน ( Smoke Detector ) อุปกรณ์ตรวจจับควัน ( Smoke Detector )เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ตรวจจับควันจากการเกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการตรวจจับได้อย่างรวดเร็ว จะเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบเพื่อป้องกันชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ อุปกรณ์ตรวจจับควัน แบบ Ionization และ อุปกรณ์ตรวจจับควัน แบบ Photoelectric

2.2.3 อุปกรณ์ตรวจจับควัน แบบลำแสง ( Projected Beam Detector ) อุปกรณ์ตรวจจับควัน แบบลำแสง( Projected Beam Detector ) เป็นอุปกรณ์ตรวจจับควันอีกชนิดหนึ่ง จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่เป็นตัวรับ ( Receiver ) และอุปกรณ์ที่เป็นตัวส่ง ( Transmitter ) ทำงานโดยการบังแสงของควันทีลอยเข้ามาในแนว ระหว่างตัว รับ( Receiver ) กับตัว ส่ง ( Transmitter ) แต่ปัจจุบันอุปกรณ์ที่เป็นตัวรับและตัวส่งจะอยู่ในตัวเดียวกันและใช้เป็นแผ่นสะท้อน(reflex)ในการสะท้อนกลับมานิยมออกแบบใช้งานในอาคารที่มีลักษณะกว้าง ใหญ่ เช่น คลังสินค้า (Warehouse) เป้นต้น

2.2.4 อุปกรณ์ตรวจจับควัน แบบใช้ในท่อลม ( Duct Smoke Detector ) อุปกรณ์ตรวจจับควัน แบบใช้ตรวจจับควันในท่อลม ( Duct Smoke Detector ) โดยส่วนใหญ่จะติดตั้งในบริเวณท่อดูดลม ( Air Return ) ในระบบปรับอากาศอุปกรณ์ตรวจจับควันชนิดนี้จะเป็นชนิด Photoelectric ซึ่งจะมีการทำงานคือเมื่อมีควันเกิดขึ้นภายในท่อลม จะผ่านมาที่ท่อดูด (Exhaust Tube) ของอุปกรณ์ตรวจจับ ก็จะทำการดูดควันเข้าไปในตัวอุปกรณ์ ระบบก็จะทำงาน

2.2.5. อุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟ (Flame Detector ) อุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟ (Flame Detector ) เป็นอุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟในขณะที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ มักจะเอาไว้ป้องกันในบริเวณที่มีวัตถุไวไฟชนิดที่เกิดการลุกไหม้อย่างรวดเร็วและไม่เกิดควัน แต่จะเกิดเปลวไฟขึ้นทันที มีอยู่ 2 ชนิด คือ
– ชนิดตรวจจับแสงที่เป็นแสงอินฟาเรด(Infrared) เช่น การลุกไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น
– ชนิดตรวจจับแสงที่เป็นแสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) เช่น การลุกไหม้ของก๊าซ น้ำมันก๊าด สารทำละลาย หรือการเชื่อมโลหะ เป็นต้น

2.2.6.อุปกรณ์ตรวจสอบน้ำไหล ( Water Flow switch )และตรวจสอบสถานะการเปิด-ปิดวาล์วน้ำ(Supervisory Switch ) เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งในระบบสปริงเกลอร์หรือดับเพลิงเพื่อตรวจสอบการทำงานของระบบดังนี้
– อุปกรณ์ตรวจสอบน้ำไหล ( Water Flow switch ) จะติดตั้งอยู่ที่ท่อดับเพลิงของแต่ละชั้นตรวจสอบการไหลของน้ำในขณะที่ระบบสปริงเกลอร์ ทำงาน น้ำจะไหลผ่านอุปกรณ์ ทำให้ใบพัดเคลื่อนที่ หน้าคอนเทค( NO,NC) ที่อยู่ด้านบนอุปกรณ์จะเปลี่ยนสถานะ ซึ่งจะไปต่อวงจรไปยังระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัย
– อุปกรณ์ตรวจสอบสถานะของวาล์วน้ำ ( Supervisory Switch ) จะติดตั้งที่อยู่ที่ตัววาล์ว ทำหน้าที่ตรวจสอบสถานะของวาล์วน้ำว่า เปิด หรือ ปิด อยู่ขึ้นอยู่กับความต้องการว่าจะตรวจสอบในสถานะใด

3.อุปกรณ์แจ้งสัญญาณ ( Notification Appliance Devices ) อุปกรณ์แจ้งสัญญาณ ( Notification Appliance Devices ) เป็นอุปกรณ์เสียงหรือแสงเพื่อแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในบริเวณ หรืออาคารนั้นๆ โดยวัตถุประสงค์เพื่อต้องการอพยพบุคคลที่อยู่บริเวณนั้น สัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้จะอยู่หลายชนิด เช่น แจ้งเหตุด้วยเสียงจาก กระดิ่ง ( Bell ) , เสียงอิเล็คทรอนิคส์ ( Horn ), เสียงสโลว์-วูฟ และเสียงประกาศจากลำโพง ( Speaker ), และ แจ้งเป็นแสงกระพริบ ( Strob ) เป็นต้น สามารถเลือกใช้ตามความต้องการและชนิดของอาคารว่าจะใช้เสียงชนิดใด โดยต้องมีระดับความดังตามมาตรฐานกำหนด

4.อุปกรณ์แยกแจ้งสัญญาณ ( Graphic Annunciator ) เป็นอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อดูจุดเกิดเหตุภายในอาคารได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะสามารถบอกตำแหน่งในการเข้าไประงับเหตุได้อย่างรวดเร็ว อุปกรณ์แยกแจ้งสัญญาณ ( Graphic Annunciator ) จะนิยมแสดงแผนผังของอาคารนั้นๆ และแสดงโซนหรือจุดของอุปกรณ์ตรวจจับตามตำแหน่งที่ออกแบบไว้ ถ้าระบบเป็นระบบการแจ้งเหตุเป็นจุด ( Addressable System) อาจจะแสดงเป็น Graphic Software บน คอมพิวเตอร์ก็ได้

5.อุปกรณ์เสริม( Auxiliary Devices ) เป็นอุปกรณ์เสริมในระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้เพื่อทำหน้าที่รับ-ส่งสัญญาณไปยังระบบอื่นๆ ของอาคาร เช่น

– ระบบบังคับลิฟต์ลงมาชั้นล่าง
– การปิดพัดลมในระบบปรับอากาศ
– การควบคุมปิด เปิดประตูหนีไฟ
– ควบคุมระบบกระจายเสียงและประกาศแจ้งข่าว
– ทำงานร่วมกับระบบดับเพลิง
– ฯลฯ

ส่วนประกอบที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นเป็นเพียงองค์ประกอบของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้เบี้องต้นเท่านั้น ยังคงมีรายละเอียดและองค์ประกอบอีกมาก เช่น ระบบโทรศัพท์ (Firefighting Telephone System) หรือ ระบบการแจ้งเหตุเพื่ออพยพด้วยเสียงประกาศ (Voice Evacuated system) รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยี่ของระบบ โดยสามารถติดต่อเป็นระบบโครงข่าย (Net work System) หรือติดต่อและสั่งงานผ่าน Internet หรือ IP net work ได้อีกด้วยเราควรทำการตรวจสอบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้เป็นประจำเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วระบบจะสามารถทำงานได้อย่างทันทีและรวดเร็วเพื่อความปลอดภัย